สารปนเปื้อนในอาหารก่อให้เกิดโรคร้าย!!
สารปนเปื้อนในอาหารส่วนใหญ่อาจเกิดจากความตั้งใจของเกษตรกรเอง เนื่องจากต้องการให้ผลผลิต เนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบ สีสวยงาม ไร้ร่องรอยของสัตว์ และแมลงชอนไช ซึ่งผลกระทบนั้นทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมามากมาย หนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็ง หลายคนมักให้ความสนใจกับโรคมะเร็งเป็นหลักแต่หารู้ไม่มีอีกหลายโรคที่เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่ามะเร็งถ้ามีการบริโภคอยู่เป็นประจำ
โรคภัยจะเกิดขึ้นหากบริโภคสารปนเปื้อนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1.สารเร่งเนื้อแดง
- เป็นสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ( Beta-agonist ) เช่น ซาลบลูทามอล (Salbutamol ), เคลนบิวเทอรอล ( Clenbuterol ) ซึ่งปกติใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืดในคนและสัตว์เท่านั้น แต่มีการลักลอบนำมาใช้ผสมอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มเนื้อแดงและลดไขมันตามความต้องการของตลาด
เมื่อบริโภคจะทำให้เกิดอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว เป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางประสาท มีผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ
2.สารกันราหรือกรดซาลิซิลิค ( Silicic Acid )
- มีความเป็นกรดที่มีอันตรายต่อร่างกายมาก กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดห้ามนำมาใช้เจือปนในอาหาร แต่มีผู้ผลิตอาหารบางรายนำมาใส่เป็นสารกันเสียในอาหารแห้ง พริกแกง หรือน้ำดองผัก ผลไม้ เพื่อป้องกันเชื้อราขึ้น และช่วยให้น้ำดองผัก ผลไม้ดูใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ
หากร่างกายได้รับเข้าไปจะไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและหากได้รับเข้าไปมาก ๆ จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ถ้าได้รับกรดซาลิซิลิคจนมีความเข้มข้นในเลือดถึง 25-35 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร จะมีอาการอาเจียน หูอื้อ มีไข้ ความดันโลหิตต่ำจนช็อค และอาจถึงตายได้
3.สารฟอกขาว ( Bleaching Powder )
- เป็นสารที่ยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก
- หากบริโภคมากกว่าที่ร่างกายกำหนดอาจเกิดอาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง ในรายที่แพ้อาจเกิดลมพิษ ช็อค หมดสติ และเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหอบหืด
4.สารบอแรกซ์ ( Borax )
- เป็นสารที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมีความอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ลักลอบใช้กับอาหารเนื่องจากคุณสมบัติทางเคมี ทำให้อาหารมีความกรอบ เด้งมากขึ้น คงตัวได้นาน บางรายนำสารบอแรกซ์ทาหรือชุบเนื้อหมู เนื้อวัว ทำให้มีสีที่สดอยู่ตลอด
หากบริโภคเข้าไปในร่างกายจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด สำไส้และกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง อุจจาระร่วง และเป็นพิษต่อตับ ไต และสมองได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณสารที่ได้รับ
5.ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) หรือเรียกทั่วไปว่า "ฟอร์มาลิน" ( formalin )
- มักใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้เป็นน้ำยาดองศพ ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ เพื่อใช้ในการรักษาผ้าไม่ให้ย่นหรือยับ ใช้ป้องกันการขึ้นราในการเก็บรักษาข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต หลังจากเก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลงในพวกธัญพืชหลังการเก็บเกี่ยว แต่ยังมีการลักลอบใช้ในอาหาร เช่น อาหารทะเลสด เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ผักสดชนิดต่างๆ เพื่อความสดใหม่ ไม่ให้อาหารเน่า
หากร่างกายได้รับ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร และหากสัมผัสอยู่เป็นประจำ จะทำให้เกิดการสะสมจนทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ และสารฟอร์มาลินยังเป็นสารก่อมะเร็งในสิ่งมีชีวิตได้ด้วย
6.ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Insecticides or chemical pesticides)
- เป็นวัตถุมีพิษที่นำมาใช้เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ทั้งในการเกษตร อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ได้บางชนิด แต่ต้องทิ้งระยะให้สารหมดความเป็นพิษก่อนการเก็บเกี่ยว เพราะหากมีสารตกค้างจะทำให้ได้รับสารจากยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับเอนไซม์ในร่างกาย มีผลให้เกิดการขัดขวางการทำหน้าที่ตามปกติของระบบประสาททั้งในคนและสัตว์ ความเป็นพิษขึ้นกับคุณสมบัติของสารเคมีแต่ละชนิด
หากได้รับสารเข้าสู่ร่างกายที่มีปริมาณความถี่สูง ผู้ได้รับสารพิษจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง หายใจลำบาก แน่นในอก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ลิ้นและหนังตากระตุก ชักหมดสติ
ดังนั้นแล้วการตระหนักรู้ต่อสารพิษเหล่านี้ จึงจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับมือกับภัยจากอาหาร ที่มีสารปนเปื้อนต่างๆ ได้มากขึ้น และผู้บริโภคต้องพยายามเลือกซื้ออาหาร วัตถุดิบต่าง ๆ จากร้านที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือไม่ดูเพียงความสวยงามของอาหารเท่านั้น เพราะอาจมีสารปนเปื้อนผสมอยู่ ผู้บริโภคต้องหมั่นหาข่าวสารอยู่ตลอด เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคเอง
แหล่งที่มาข้อมูล:
นิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
https://www.paolohospital.com/
https://www.thaihealth.or.th/
Leave A Comment